About me

รูปภาพของฉัน
การเป็นอาจารย์ ครู หรือติวเตอร์ อาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่วัตถุประสงค์หลักไม่ต่างกัน คือ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ โดยการสอน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้แก่นักเรียนของตน ให้สามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างสมดุลย์ ดังนั้น be Able by ครูโป่ง จึงได้สร้าง blog นี้ขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ให้แก่ผู้ที่สนใจในอีกช่องทางหนึ่ง โดยจะมีติวเตอร์ของเรานำประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาถ่ายทอด เล่าสู่กันฟังค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เทคนิคการสอนแบบติวเตอร์#4

จากเทคนิคการสอนแบบติวเตอร์#3 ได้กล่าวถึงความหมายของ การสอนแบบเดี่ยว และการสอนแบบกลุ่ม
ครั้งนี้ติวเตอร์โป่งจะกล่าวถึงเทคนิคการสอนของทั้งสองแบบนะคะ


การสอนแบบเดี่ยว หรือ การสอนแบบตัวต่อตัว : เป็นการสอนตามความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก และผู้เรียนมุ่งหวังผลการเรียนที่มีประสิทธิภาพสูง


ดังนั้น การเตรียมตัวของติวเตอร์ในการสอนแบบตัวต่อตัว คือ การพูดคุยกับผู้เรียนให้ชัดเจน ในหัวข้อต่อไปนี้


1. วัตถุประสงค์ในการเรียน เช่น ต้องการเรียนเพื่อเพิ่มเกรด ต้องการสอบเข้า เป็นต้น
2. เนื้อหาที่ต้องการเรียน รวมทั้งเอกสารการเรียนต่างๆ เช่น เรียนตามหนังสือเรียนที่ผู้เรียนใช้ ใช้หนังสือนอกบทเรียน เป็นต้น
3. ต้องการให้เน้นจุดใดพิเศษหรือไม่ เช่น ผู้เรียนบางคนต้องการฝึกทำแบบฝึกหัด ฝึกตีโจทย์คณิตศาสตร์ เป็นต้น
4. ระยะเวลาทั้งหมดในการเรียน เพื่อที่ติวเตอร์จะสามารถวางแผนการสอนได้ลงตัว


การสอนแบบตัวต่อตัว ผู้เรียนสามารถสอบถามสิ่งที่ไม่เข้าใจได้ตลอดเวลา แต่ก็มีหลายครั้งที่ผู้เรียนไม่เข้าใจแต่ไม่ถามออกมา ดังนั้นติวตอร์หรือครูสอนพิเศษเอง ก็ต้องสังเกตุพฤติกรรมของผู้เรียนด้วย ว่าเข้าใจบทเรียนที่กำลังเรียนอยู่หรือไม่ ตามทันหรือไม่ และคอยกระตุ้นอย่างเป็นธรรมชาติเพื่อให้ผู้เรียนติดตามเนื้อหาได้ทันไปพร้อมๆกับติวเตอร์


บรรยากาศในการสอนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการสอนแบบตัวต่อตัว ติวเตอร์ต้องพยายามสร้างบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติของทั้งสองฝ่าย ซึ่งหมายถึง บรรยากาศที่เป็นปกติและลงตัวกับคนทั้งสอง ซึ่งเป็นไปได้ทั้ง แบบจริงจัง แบบสนุกสนาน แบบผู้ใหญ่กับเด็ก แบบเรื่อยๆ แบบชิวๆ ฯลฯ แล้วแต่สไตล์ของติวเตอร์และผู้เรียนแต่ละคู่ที่แตกต่างกันไป


ดังนั้น สิ่งที่ติวเตอร์ควรเตรียมตัวในประเด็นนี้ คือ การใช้เวลาในครั้งแรกที่ได้พบผู้เรียน เพื่อทำความรู้จักตัวตนซึ่งกันและกัน 


สำหรับการสอนแบบกลุ่มย่อย ก็จะคล้ายๆกับการเรียนแบบเดี่ยว จะต่างกันตรงจำนวนผู้เรียนที่มีมากกว่า 1 คน ทำให้ติวเตอร์หรือครูสอนพิเศษจะต้องกระจายความสนใจผู้เรียนให้ทั่วถึงทุกคนในกลุ่ม การสอนที่มีเนื้อหาความยากง่ายเหมาะสมกับกลุ่มที่สุด โดยติวเตอร์อาจจะต้องใช้เวลาทำความรู้จักผู้เรียนในกลุ่มมากกว่าการสอนแบบตัวต่อตัว พยายามสังเกตุสไตล์และระดับความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่ม เพื่อประเมินความสามารถเฉลี่ยของกลุ่มและวางแผนการสอนได้เหมาะสม และควรจะสังเกตุให้ได้ว่าผู้เรียนแต่ละคนควรต้องสอนเน้นในจุดใด


ในมุมมองของติวเตอร์โป่ง การสอนแบบกลุ่มย่อย มีเสน่ห์ตรงที่ การเรียนการสอนเกิดขึ้นในกลุ่มคนไม่กี่คน จึงง่ายแก่การเกิดบรรยากาศของการปรึกษาหารือ ถกประเด็นต่างๆ สอบถามและแก้ข้อสงสัยโดยมีการแสดงความคิดเห็นจากคนหลายคน แลกเปลี่ยนความรู้ แชร์ประสบการณ์ ซึ่งเป็นบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่ดีเลยทีเดียวค่ะ


"การเป็นติวเตอร์นั้นไม่ยาก อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาความรู้ของตนเองและผู้เรียนไปพร้อมๆกัน"




ติวเตอร์โป่ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น